ประวัติกระบือไทย

ประวัติควายไทย
        คำว่า "ควาย" นั้นมีความหมายทั้งนัยตรงและความหมายเชิงเปรียบเทียบ "ควาย" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายไว้เป็นสองอย่างคือ อย่างแรก 
หมายถึง สัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์กีบคู่รูปร่างใหญ่ สีดำหรือสีเทา เขาโค้ง ใต้คางและหน้าอกมีขนขาว และความหมายที่สอง หมายถึง คนโง่ เซ่อ หรือคนตัวใหญ่แต่ไม่ฉลาด คนมักพูดกันถึงความหมายในแบบที่สอง ซึ่งจะใช้พูดเปรียบเทียบถึงความโง่เง่า หรือความไม่ดี มากกว่าการพูดถึงตัวสัตว์ที่เป็นควายจริง ๆ แต่คำว่า "ควาย" ก็เป็นคำไทยแท้ใช้กันมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว สำนวน สุภาษิต และคำพังเพยที่ที่เปรียบเทียบก็มักจะใช้คำว่าควายทั้งนั้น เช่น สีซอให้ควายฟัง, ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก, อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดายปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น, เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน เป็นต้น ส่วนคำว่า "กระบือ" ซึ่งก็หมายถึงควายเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความถึงโง่ เซ่อ กระบือ จะเป็นคำที่ใช้ในลักษณะเป็นทางการมากกว่าการพูดกันทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ได้หมายความว่า "ควาย" เป็นคำที่ไม่สุภาพซึ่งจะเห็นว่ามีการใช้กันทั้งสองคำ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะถนัดใช้คำว่า ควายหรือกระบือ นอกจากนี้ยังมีคำว่า "เจ้าทุย" หรือ "ไอ้ทุย" ซึ่งก็หมายถึงควายเช่นกัน แต่คำว่า "ควายทุย" ในบางท้องถิ่นจะหมายถึงควายที่มีลักษณะเขาสั้น ในประเทศเพื่อนบ้านเราและแถบประเทศอาเซียนก็จะมีชื่อเรียกต่างกันเช่น ประเทศกัมพูชา หรือชาวเขมรจะเรียกว่า กระบาย ประเทศมาเลเซีย จะเรียกว่า กระบาว (Krabau) และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้ภาษาตากาล็อก เรียกว่า คาราบาว (Carabao)
        
กระบือในโลกนี้สามารถแยกได้เป็นสองกลุ่มคือกระบือป่า และกระบือบ้านสำหรับกระบือบ้านนั้นก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือกระบือปลัก (swamp bufffalo) กระบือแม่น้ำ (river buffalo) กระบือทั้งสองชนิดจะอยู่ใน Family และ Genus เดียวกันคือ bubalus bubalis แต่ก็มีความแตกต่างกันทางสรีระวิทยา รูปร่าง และผลผลิตต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน จากการศึกษาทางด้านชีวภาพโมเลกุลพบว่ากระบือปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนกระบือแม่น้ำจะจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างทั้งสองชนิดนี้ได้
        กระบือปลัก
        
กระบือปลักชนิดนี้จะเลี้ยงกันในประเทศต่างๆ ทางตะวันออกไกล ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาวเป็นต้น แต่เดิมในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม กระบือชนิดนี้จะเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร
       สำหรับลักษณะทั่วไปของกระบือปลักไทยส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว กระบือชนิดนี้ จะชอบนอนแช่ปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบบโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบบราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี (chevlon) หัวไหล่และอกนูนเห็นชัด
        กระบือแม่น้ำ
        กระบือชนิดนี้พบในประเทศ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก เป็น กระบือที่ให้นมมากและมีลักษณะเป็นกระบือนม เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม กระบือประเภทนี้จะไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด กระบือแม่น้ำจะมีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มร่าห์ พันธุ์นิลิ ราวี พันธุ์เมซานี พันธุ์เซอติ และพันธุ์เมดิเตอเรเนียน เป็นต้น กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส้วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่กว่ากระบือปลัก

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น